วันพฤหัสบดีที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

สถานการณ์อาหารเป็นพิษจากรับประทานเห็ดป่า

สถานการณ์อาหารเป็นพิษจากรับประทานเห็ดป่า
ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม –18 มิถุนายน 2556

ขณะนี้เป็นฤดูฝนซึ่งเริ่มมีเห็ดขึ้นตามป่าจำนวนมาก ทั้งเห็ดที่รับประทานได้และเห็ดพิษ ชาวบ้านในหลายท้องถิ่นนิยมรับประทานเห็ดทั้งที่ซื้อตามตลาดและหาเห็ดจากป่า โดยจะพบผู้ป่วยจากการรับประทานเห็ดเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจำนวนมาก รวมถึงพบผู้เสียชีวิตทุกปีเช่นกัน  ในปีนี้ พบผู้เสียชีวิตแล้ว 3 ราย ปีที่ผ่านมาพบผู้เสียชีวิตถึง 25 ราย
สถานการณ์ของโรคอาหารเป็นพิษจากการรับประทานเห็ดป่า (ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม –18 มิถุนายน 2556) จากรายงาน 506 ของสำนักระบาดวิทยา พบผู้ป่วย 479 ราย จาก 48 จังหวัด กลุมอายุที่พบมากที่สุดเป็นวัยแรงงาน คือ 35-54 ป ร้อยละ 51.8 ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคเหนือ 1.46 ต่อแสนประชากร รองลงมาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1.08 ต่อแสนประชากร ภาคใต้ 0.37 ต่อแสนประชากร ภาคกลาง 0.20 ต่อแสนประชากร จังหวัดที่มีอัตราปวยตอแสนประชากรสูงสุด 5 อันดับแรกคือ เชียงราย 91 ราย (7.62) นครพนม 37 ราย(5.28) พังงา 9 ราย(3.58) อุบลราชธานี 55 ราย (3.05)
สำนักระบาดวิทยาได้รับรายงานการเกิดเหตุการณ์อาหารเป็นพิษจากการรับประทานเห็ด ตั้งแต่เดือนมกราคม – มิถุนายน 2556 จำนวน 4 เหตุการณ์ จากจังหวัดศรีสะเกษ  น่าน บุรีรัมย์ และตาก ซึ่งแต่ละเหตุการณ์พบผู้ป่วย 4-10 ราย ผู้เสียชีวิต 3 รายทั้งหมดจากจังหวัดตาก ผู้ป่วยและเสียชีวิตทั้งหมดกินกลุ่มเห็ดไข่ห่าน และระโงกหิน มีผู้ป่วยที่อาการรุนแรงจากการดื่มเหล้าร่วมด้วย
ในปีก่อนๆ ก็มักมีรายงานผู้เสียชีวิตจากภาคเหนือ รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และหลายเหตุการณ์เป็นการเสียชีวิตทั้งครอบครัว จากรายงานการสอบสวนทางระบาดวิทยาเฉพาะเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตจากการรับประทานเห็ดในปี พ.ศ. 2550-2555 จำนวน 15 เหตุการณ์ พบเหตุการณ์และผู้เสียชีวิตในเขตภาคเหนือสูงสุดร้อยละ 60 (9 เหตุการณ์) รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 40 (6 เหตุการณ์) โดยร้อยละ 70 เกิดจากการกินเห็ดป่าในกลุ่มระโงก ซึ่งมีชื่อเรียกตามภาษาท้องถิ่นต่างไปในแต่ละภาค ในภาคเหนือเรียกเห็ดไข่ห่าน เห็ดโม่งโก้ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกเห็ดระโงกหิน เห็ดระงากหรือเห็ดสะงาก เห็ดระโงกตีนตัน เห็ดไข่ตายซาก (ฮาก) และเห็ดขี้กะเดือน เป็นต้น รูปร่างทั่วไปจะคล้ายคลึงมากระหว่างเห็ดที่กินได้กับเห็ดพิษ โดยเฉพาะเห็ดอ่อนที่มีลักษณะเป็นก้อนกลมรีคล้ายไข่หรือดอกยังบานไม่เต็มที่ ในบางเหตุการณ์ที่มีการเสียชีวิตผู้ป่วยเก็บเห็ดมาจากที่เคยเก็บในปีก่อนๆ ซึ่งเคยกินแล้วไม่เป็นพิษ สารพิษที่พบในเห็ดสกุลนี้ที่สำคัญและมีพิษรุนแรงมากที่สุด คือ อะมาท๊อกซิน (Amanitin) และฟาโลท็อกซิน (Phalloidins) เป็นสารพิษที่ไม่ถูกทำลายด้วยความร้อน  
สำหรับอาการอาจเกิดตั้งแต่ 2-3 ชั่วโมงหลังจากกินเห็ดชนิดนี้ แต่โดยส่วนใหญ่มักเกิดอาการค่อนข้างช้าคือประมาณ 6-12 ชั่วโมง ทำให้กว่าผู้ป่วยจะมาพบแพทย์เห็ดก็ถูกดูดซึมไปจากทางเดินอาหารเกือบหมดแล้ว การล้างท้อง
จึงมักไม่ค่อยได้ผล อาการแรกๆ คือ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเป็นน้ำ โดยจะแสดงอาการประมาณ 2-3 วัน หลังจากนั้นผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้น แต่จะตรวจพบเอ็นไซม์ตับสูงขึ้นเรื่อยๆ ต่อมาเกิดภาวะตับอักเสบ ตัวเหลือง ตาเหลือง อาการจะรุนแรงมากขึ้น มีระบบเลือด หายใจ และอวัยวะภายในล้มเหลวและเสียชีวิตจากภาวะตับหรือไตวาย ภายในระยะเวลา 4-16 วัน หลังการกินเห็ดพิษชนิดนี้
­ข้อเสนอแนะสำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
1. พื้นที่ที่เคยมีรายงานผู้ป่วยอาหารเป็นพิษจากการรับประทานเห็ดเสียชีวิตมาก่อน ต้องตระหนักว่ามีเห็ดพิษชนิดรุนแรงอยู่ในพื้นที่ ซึ่งสามารถเจริญเติบโตซ้ำได้ทุกๆ ปี ในช่วงฤดูฝน ดังนั้นก่อนเข้าฤดูฝน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง ต้องประชาสัมพันธ์ถึงภัยจากการรับประทานเห็ดที่ขึ้นตามธรรมชาติ แนะนำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเก็บเห็ดป่ามารับประทาน
1.1.    ในพื้นที่ที่พบการเสียชีวิตจากกลุ่มระโงกพิษ (ส่วนใหญ่ของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือในบางพื้นที่) ต้องแนะนำให้ประชาชนหยุดกินเห็ดไข่ห่าน เห็ดโม่งโก้ง เห็ดระโงก  เห็ดขี้กะเดือน หรือเห็ดระงาก ที่ยังเป็นดอกอ่อน ซึ่งมีลักษณะเป็นก้อนกลมรีคล้ายไข่ เนื่องจากเห็ดกลุ่มนี้ขณะดอกอ่อนจะมีลักษณะเหมือนกันหมด แยกได้ยากจากเห็ดที่กินได้ และหากเป็นไปได้ควรหยุดกินเห็ดกลุ่มดังกล่าวไปเลยเนื่องจากมีโอกาสเสี่ยงที่จะไปเจอเห็ดพิษ ทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต
1.2     ในพื้นที่ภาคอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาคเหนือเจ้าหน้าที่ต้องศึกษาปัญหาเห็ดพิษที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตของพื้นที่ว่ามักจะเป็นกลุ่มใด (ในกรณีที่ไม่ใช่กลุ่มระโงกพิษ) เพื่อที่จะศึกษาให้ละเอียดและให้คำแนะนำได้ตรงกับปัญหาของพื้นที่
2.    การทดสอบภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ใช้ในการแยกชนิดระหว่างเห็ดที่กินได้และเห็ดพิษในหลายวิธี เช่น การต้มกับข้าวสาร หรือการต้มกับช้อนเงินแล้วเปลี่ยนสี ไม่สามารถนำมาใช้กับเห็ดกลุ่มระโงกพิษได้
3.    ควรหลีกเลี่ยงการกินเห็ดร่วมกับการดื่มสุรา เพราะเห็ดพิษบางชนิดพิษจะรุนแรงขึ้น

4.    การปฐมพยาบาลช่วยเหลือเบื้องต้น ที่สำคัญที่สุดคือทำให้อาเจียนออกมาให้หมด โดยการล้วงคอหรือกรอกไข่ขาว ไม่ควรซื้อยากินเองหรือไปรักษากับหมอพื้นบ้าน จะต้องรีบไปพบแพทย์และให้ประวัติการกินเห็ดทั้งชนิดและปริมาณแก่แพทย์ผู้ให้การรักษาโดยละเอียด

5.    ผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอหรือมีโรคประจำตัวควรหลีกเลี่ยงการกินเห็ด โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคตับและไต ในกรณีกินเห็ดแล้วมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้องหรือถ่ายอุจจาระเหลว อาการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือร่วมกัน

6.    หากพบผู้ป่วยในพื้นที่แล้ว เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เกี่ยวข้องต้องทำการแจ้งเตือนสถานการณ์ให้ประชาชนรับทราบเป็นระยะๆ เพื่อให้เกิดความตระหนักและระมัดระวังในการรับประทานเห็ด

7.    แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขผู้ดูแลผู้ป่วยทุกระดับ หากพบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษจากการรับประทานเห็ด ต้องให้ผู้ป่วยนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือ นัดติดตามอาการทุกวันจนกว่าจะหายเป็นปกติ เนื่องจากเห็ดพิษชนิดร้ายแรง เช่น กลุ่มระโงกหิน ทำให้ผู้ป่วยมีเพียงอาการคลื่นไส้ อาเจียน เท่านั้นใน 24 ชั่วโมงแรก แต่หลังจาก 24 ชั่วโมงไปแล้ว ผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรงตามมา ได้แก่ การทำงานของตับและไตล้มเหลว ทำให้เสียชีวิตได้

8.    หากพบผู้เสียชีวิตควรมีการสอบสวนโรคและเก็บตัวอย่างเห็ดป่า มาตรวจแยกชนิดเห็ดและตรวจหาความเป็นพิษ เพื่อที่จะได้ทราบว่า มีเห็ดพิษร้ายแรงชนิดใดอยู่ในพื้นที่และประกาศเตือนประชาชนในพื้นที่ต่อไป

9.    พื้นที่ที่มีการเก็บเห็ดป่ามาวางขายตามตลาด ควรมีการสุ่มตัวอย่างเห็ดป่าที่วางขายเหล่านั้นมาตรวจแยกชนิดและตรวจหาสารพิษเป็นระยะ
แนวทางการเก็บตัวอย่างเห็ดพิษส่งตรวจ
1. ควรเก็บจากแหล่งหรือพื้นที่เดียวกันกับที่ผู้ป่วยเก็บมารับประทาน
2. เลือกเก็บดอกที่สมบูรณ์ดอกยังไม่ช้ำและมีทั้งก้านดอกและราก
3. ก่อนเก็บเห็ด ควรถ่ายภาพเห็ดไว้เพื่อประกอบในการพิจารณา ชนิดของเห็ด โดยมีขั้นตอนดังนี้
3.1. ถ่ายภาพที่ขึ้นอยู่ในธรรมชาติ
3.2. กวาดเศษขยะรอบๆ ต้นเห็ดออก แล้วถ่ายภาพด้านบนดอก ด้านใต้ดอกและด้านข้างดอกและควรมีไม้บรรทัดบอกความกว้างความยาวของเห็ดด้วยแล้วจึงลงมือเก็บ โดยขุดให้ห่างจากลําต้นพอประมาณให้ได้รากด้วย หลังจากนั้นควรปักป้ายเตือนไม่ให้มีการเก็บเห็ดในบริเวณนั้นไปรับประทานอีก
4. การนําส่งตรวจ เห็ดที่ส่งตรวจควรมีสภาพสมบูรณ์มีดอกลําต้นและราก และขณะนําส่งต้องรักษาสภาพของดอกไม่ให้ช้ำและเน่าโดยห่อดอกเห็ดด้วยกระดาษ (การห่อด้วยกระดาษจะช่วยไม่ให้ภายในห่อมีความชื้น ซึ่งจะทําให้เห็ดเน่าเร็ว) ทําเป็นถุงกระดาษให้พอดีกับดอกเห็ด เพื่อไม่ให้ดอกเห็ดเคลื่อนไหว ป้องกันการช้ำ หลังจากนั้นใส่ลงถุงพลาสติก เป่าลมให้ถุงพลาสติกพองแล้วใช้หนังยางรัด และบรรจุในกล่องโฟมก่อนส่ง ถ้าส่งถึงห้องปฏิบัติการภายในวันเดียวกัน ไม่ต้องแช่เย็น ถ้าส่งเกิน 1 วัน ให้เก็บเห็ดไว้ที่อุณหภูมิ 4 - 8 องศาเซลเซียส และควรรักษาความเย็นของเห็ดจนกว่าจะถึงห้องปฏิบัติการ
5. ส่งตัวอย่างพร้อมใบนําส่งตัวอย่าง ควรมีรายละเอียดบริเวณที่เก็บเห็ดว่าเห็ดขึ้นในบริเวณใด เช่น บริเวณบ้าน สนามหญ้า ในป่าใกล้ต้นไม้ชนิดใด ใกล้จอมปลวก หรือบนชานอ้อยเป็นต้น พร้อมอาการและอาการแสดงของผู้ป่วย เพื่อใช้ประกอบการตรวจยืนยัน ชนิดและพิษของเห็ด
6. ส่งตัวอย่างเห็ดตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โทรประสาน 02-9510000-11 ต่อ 99248 

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น