วันพุธที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2556

กรณีพบการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 ในประเทศจีน

• จากรายงานทางการของ WHO ณ วันที่ 1 เมษายน 2556 มีผู้ป่วยรวม 3 รายในประเทศจีน (จากเซี่ยงฮ้และอันฮุย) เสียชีวิต 2 ราย อาการวิกฤต 1 ราย ไม่มีความเกี่ยวโยงกันทางระบาดวิทยา ส่วนใหญ่มีประวัติสัมผัสสัตว์ปีก และยังไม่พบหลักฐานการติดต่อจากคน สู่คน (รายงานของ Center for Health Protection ฮ่องกง ณ วันที่ 2 เมษายน 2556 เพิ่มผู้ป่วยอีก 4 ราย จากมณฑลเจียงซู ทั้งหมดอาการวิกฤต การพบผู้ป่วยทั้ง ๗ ราย นับว่าเป็นครั้งแรกที่พบการติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์นี้เป็นครั้งแรกในคน

• ความรู้ทางไวรัสวิทยา : เชื้อ H7 นี้ พบได้ในสัตว์ปีกในทวีปยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน โครงสร้างของสายพันธุ์นี้ ทำให้เกิดปอดบวมรุนแรงได้ และยังมีความไวต่อยาโอเซลทามิเวียร์

ข้อมูลองค์การอนามัยโลก ณ วันที่ 3 เมษายน 2556 ยังไม่มีหลักฐานของการแพร่กระจายเชื้อจากคนสู่คน ความเสี่ยงยังอยู่ระหว่างการสอบสวนโรค แต่ให้ประเทศต่างๆ เน้นการเฝ้าระวังโรค

ความเสี่ยงของไทย : ณ เท่าที่มีข้อมูลจำกัดขณะนี้ ค่อนข้างประเมินได้ยาก เพราะยังมีองค์ความรู้เรื่อง H7N9 นี้น้อยมาก และประสบการณ์การติดเชื้อในคนก็ยังน้อย ดังนั้น จึงควรเน้นด้านการตรวจจับการระบาดและเฝ้าระวังโรคให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการปอดบวมรุนแรง

• การเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในคน และเพิ่มความไวในการตรวจจับการระบาด โดยเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เมื่อพบผู้ป่วยปอดอักเสบร่วมกับประวัติสัมผัสสัตว์ปีก หรือปอดอักเสบที่มีอาการรุนแรง หรือการดำเนินโรคเป็นไปอย่างรวดเร็ว หรือไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรค หรือมีความผิดปกติในการดำเนินโรค เน้นย้ำให้มีการส่งตรวจหาเชื้อโรคไข้หวัดนกทุกราย

• ขณะนี้ทางกรมปศุสัตว์มีศักยภาพในการตรวจสายพันธุ์นี้ได้ จากการเฝ้าระวัง ในไทยยังไม่พบ H7N9 ในสัตว์ ประเทศไทยไม่มีการนำเข้าสัตว์ปีกจากประเทศจีน

- ให้อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) ดำเนินการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก หากพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ ต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

- เผยแพร่ข้อมูลความรู้และแนวทางปฏิบัติในการคัดกรองและการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไข้หวัดนก ตามแนวทางกระทรวงสาธารณสุขให้แพทย์ทั้งภาครัฐและเอกชนภายในจังหวัดทราบอย่างทั่วถึง และให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น