วันพุธที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

คนเมืองเสี่ยง'โรคหลอดเลือดหัวใจ'สูงขึ้น



นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เผยว่า สพฉ.เร่งจัดบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินให้ครอบคลุม และทันกาลมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะ 6 โรคฉุกเฉิน ที่ปัจจุบันมีอัตราการเจ็บป่วยฉุกเฉินเพิ่มมากขึ้น อาทิ การบาดเจ็บ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง อุบัติเหตุจราจร ภาวะวิกฤติในทารกแรกเกิด สถิติการปฏิบัติการฉุกเฉินของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินในปี 2556 พบว่า มีผู้ป่วยขอความช่วยเหลือจากบริการระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ด้วยอาการเจ็บแน่นหน้าอกจากปัญหาด้านหัวใจ 16,476 ครั้ง และมีการขอความช่วยเหลือเนื่องจากผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้น 637 ครั้ง สาเหตุการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นผลจากวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทยในปัจจุบันที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะในสังคมเมืองที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น การกินอาหารที่ไม่สมดุลกับการออกกำลังกาย กินอาหารรสหวาน มัน เค็ม กินผักผลไม้น้อยลงมีกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง ทำงานนั่งโต๊ะมากขึ้นเครียด และพักผ่อนไม่เพียงพอ สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ส่งผลให้เป็นโรคหัวใจ และหลอดเลือด กันมากขึ้น และทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร  ส่วนอาการผู้ป่วยมักจะมีอาการเจ็บแน่น จุกเสียดที่หน้าอก หรือท้องส่วนบน หรือมีอาการแน่น เหนื่อยขึ้นมาทันที ร่วมกับอาการหายใจไม่สะดวก หอบเหนื่อย คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ หรือบางรายอาจมีอาการปวดไหล่ซ้าย มากกว่าไหล่ขวา จุกแน่นที่ท้อง จนเข้าใจผิด คิดว่าเป็นโรคกระเพาะ นอกจากนี้อาจเจ็บหน้าอก หลังจากออกกำลังกาย หรือเครียด แต่เมื่อหยุดพักอาการก็จะหาย ซึ่งเมื่อมีอาการขึ้นมาอีกให้รีบนั่งลงพักกายและใจทันที อย่าตื่นเต้นโวยวาย เพราะการใช้แรงจะทำให้เจ็บมากยิ่งขึ้น จากนั้นโทรแจ้งสายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ สำหรับผู้ป่วยที่รู้ว่าเป็นโรคดังกล่าวอยู่แล้ว จะต้องรีบอมยาใต้ลิ้นเพื่อบรรเทาอาการทันที


สพฉ.ห่วงคนไทยป่วย "โรคหลอดเลือดหัวใจ" เพิ่มขึ้น เหตุใช้ชีวิตสังคมเมือง ไม่ออกกำลังกาย เครียด แนะวิธีสังเกตอาการ หากเหนื่อยหอบจุกเสียดที่หน้าอก คลื่นไส้ รีบโทรแจ้ง 1669 หากรักษาภายใน 3 ชั่วโมง โอกาสรอดชีวิตสูง

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น