วันอังคารที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2556

สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า

I. สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า ในต่างประเทศ
สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2012 โดยกระทรวงสาธารณสุขของประเทศซาอุดิอาระเบีย ซึ่งได้รายงานต่อองค์การอนามัยโลก ในวันที่ 7 มีนาคม 2556 พบผู้ป่วยยืนยันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2012 เพิ่มอีกหนึ่งราย เป็นผู้ป่วยเพศชาย อายุ 69 ปี เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2556 และเสียชีวิต เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2556 การสอบสวนโรคเบื้องต้นพบว่า ผู้ป่วยไม่มีการติดต่อหรือสัมผัสกับผู้ป่วยรายอื่นก่อนหน้านี้ และไม่มีประวัติการเดินทาง
จนถึงขณะนี้ องค์การอนามัยโลกได้รับแจ้งจำนวนผู้ป่วยยืนยันการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2012 แล้ว รวม 14 ราย เสียชีวิต 8 ราย ซึ่งมีการรายงานยืนยันผู้ป่วยจากประเทศซาอุดิอาระเบีย รวม 7 ราย เสียชีวิต 5 ราย ดังนี้

ลำดับ
ประเทศ
เพศ
อายุ (ปี)
เริ่มมีอาการ
หมายเหตุ
1
จอร์แดน
45
เม.ย.-55
เสียชีวิต
2
จอร์แดน
25
เม.ย.-55
เสียชีวิต
3
ซาอุดิอาระเบีย
60
13-มิ.ย.-55
เสียชีวิต
4
การตาร์
49
3-ก.ย.-55
ยังรับการรักษาอยู่ในโรงพยาบาล
5
ซาอุดิอาระเบีย
 45
10-ต.ค.-55
หาย
6
การตาร์
45
12-ต.ค.-55
ส่งตัวไปรับการรักษาที่ประเทศเยอรมัน
7
ซาอุดิอาระเบีย
 31
3-5-พ.ย.-55
หาย
8
ซาอุดิอาระเบีย
 39
28-ต.ค.-55
เสียชีวิต
9
ซาอุดิอาระเบีย
 ไม่ได้ระบุ
ต.ค.-55
เสียชีวิต
10
อังกฤษ
60
24-ม.ค.-56
ยังรับการรักษาอยู่ในโรงพยาบาล
11
อังกฤษ
38
6-ก.พ.-56
เสียชีวิต
12
อังกฤษ
 
30
 5-ก.พ.56
หาย
13
ซาอุดิอาระเบีย
61
ก.พ.56
เสียชีวิต
14
ซาอุดิอาระเบีย
69
5-ก.พ.56
เสียชีวิต
* หมายเหตุ : ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค
จากสถานการณ์และข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน องค์การอนามัยโลกแจ้งเตือนให้ประเทศสมาชิกทุกประเทศดำเนินการเฝ้าระวังโรคในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการทางเดินหายใจรุนแรงเฉียบพลัน (Severe acute respiratory infection; SARI) และติดตามรูปแบบความผิดปกติต่างๆ อย่างใกล้ชิด โดยองค์การอนามัยโลกได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ ประเมินสถานการณ์และจัดทำแนวทางสำหรับการเฝ้าระวังโรค โดยให้ประเทศสมาชิกทั้งหมดประเมินสถานการณ์และแจ้งต่อองค์การอนามัยโลก กรณีมีรายงานผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2012 รายใหม่ พร้อมด้วยข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่อาจมีผลในการติดเชื้อและรายละเอียดอาการของผู้ป่วย
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกยังไม่แนะนำให้มีการตรวจคัดกรองพิเศษที่จุดผ่านแดนระหว่างประเทศ รวมทั้งไม่แนะนำให้จำกัดการเดินทางหรือการค้าระหว่างประเทศแต่อย่างใด
II. สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า ในประเทศไทย
          ตั้งแต่เดือนกันยายน 2555 จนถึง วันที่ 8 มีนาคม 2556 ยังไม่พบรายงานผู้ป่วยโรคนี้ในประเทศไทย
III. การประเมินสถานการณ์และความเสี่ยงของไทย
จากการรายงานโดยองค์การอนามัยโลก พบผู้ป่วยยืนยันการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2012 ตั้งแต่เดือนกันยายน 2555 ถึงวันที่ 6 มีนาคม 2556 รวม 14 ราย ในจำนวนนี้ เสียชีวิต 8 ราย (โดยก่อนหน้านี้ พบผู้ป่วย 13 ราย กระจายในประเทศซาอุดิอาระเบีย จอร์แดน กาตาร์ และสหราชอาณาจักร) ซึ่งทางองค์การอนามัยโลก ยังไม่แนะนำให้มีการจำกัดการเดินทางไปยังประทศใด ดังนั้นประเทศไทยจึงมีความเสี่ยง เนื่องจากจะมีประชาชนคนไทยไปแสวงบุญในประเทศแถบตะวันออกกลาง  และมีนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลางเดินทางเพื่อเข้ามาท่องเที่ยว หรือท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
VI. ผลการดำเนินงานที่กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการไปแล้ว และควรดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง คือ
1.1        การประเมินสถานการณ์ความเสี่ยงและมาตรการของประเทศที่เหมาะสม  โดยประชุมปรึกษาหารือร่วมกับระหว่างผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัย และ องค์กรระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยครั้งล่าสุดมีการประชุมในวันอังคารที่ 19 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 14.00 – 16.30 น ณ ห้องประชุมธีระ รามสูต ชั้น3 อาคาร 8 กรมควบคุมโรค
1.2        การเฝ้าระวังโรค สำนักระบาดวิทยาได้ดำเนินการจัดระบบการเฝ้าระวัง โดยเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2012 (Corona virus) ควบคู่ไปกับโรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza) และโรคไข้หวัดนก (Avian Influenza) ซึ่งขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยผิดปกติและผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มก้อนแต่อย่างใด พร้อมทั้งได้มีหนังสือสั่งการไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง และขอความร่วมมือจากกรุงเทพมหานครให้ดำเนินมาตรการเตรียมความพร้อมรับ สถานการณ์ไปแล้ว เมื่อเดือนตุลาคม 2555 ร่วมกับการเฝ้าระวังพิเศษในโรงพยาบาลเอกชน 5 แห่ง และทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้มีการประสานขอความร่วมมือกับสายการบินที่มา จากประเทศแถบตะวันออกกลาง โดยสังเกตผู้โดยสารที่มีอาการสงสัยให้ส่งมาที่แพทย์การท่าอากาศยาน สุวรรณภูมิ ซึ่งในขณะนี้ยังไม่มีเหตุการณ์ผิดปกติแต่อย่างใด
1.3        การรักษาพยาบาล กรมการแพทย์ได้จัดทำและแจ้งแนวทางดูแลรักษาพยาบาล การป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อในสถานพยาบาล ให้แก่สถานพยาบาลภาครัฐ และเอกชน รวมทั้งสังกัดอื่นๆ ทราบ โดยให้เข้มงวดเป็นพิเศษในระดับสูงสุด เช่นเดียวกับการป้องกันโรคซาร์ส และจัดระบบการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่สามารถรองรับได้
1.4        การสื่อสารความเสี่ยง ได้มีการให้คำแนะนำประชาชนทั่วไป และผู้เดินทาง มีการเผยแพร่ในเว็บไซต์สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ และมีการให้ข้อมูลแก่เครือข่ายในหลายช่องทาง
คำแนะนำสำหรับประชาชน
     สำหรับผู้ที่เดินทางไปประเทศที่มีการระบาดของโรค
ก่อนเดินทาง
-       เนื่องจากทางองค์การอนามัยโลก ยังไม่แนะนำให้มีการจำกัดการเดินทางไปยังประทศใด ดังนั้นผู้ที่จะเดินทางไปต่างประเทศ ให้เตรียมร่างกายให้พร้อม หากมีโรคประจําตัว ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ และเน้นการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล เช่น การล้างมือ เป็นต้น
-       ขอรับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามที่ประเทศนั้นๆ กำหนดโดยทั่วไป
ระหว่างอยู่ในต่างประเทศ
-       หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจหรือผู้ที่มีอาการไอ หรือจาม
-       ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่แออัดโดยไม่จำเป็น เพื่อลดความเสี่ยงในการติดโรค หากจำเป็นต้องเข้าไปในพื้นที่แออัด ผู้มีโรคประจำตัวที่เสี่ยงต่อการป่วยอาจพิจารณาการใส่หน้ากากอนามัย และเปลี่ยนบ่อยๆ
-       ควรล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่
-       หากมีอาการคล้ายไข้หวัด เช่น มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก ให้ใส่หน้ากากอนามัย และหลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้อื่น หากอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการหอบเหนื่อย หายใจลำบาก ควรไปพบแพทย์
หลังเดินทางกลับมาในประเทศไทย
-       สังเกตอาการผิดปกติต่ออีก 10 วันหลังจากกลับมาจากต่างประเทศ หากมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ควรพักผ่อนอยู่กับบ้าน และปฏิบัติตามมาตรการลดการแพร่เชื้อสู่คนรอบข้าง โดยการใส่หน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อยๆ หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน หรือมีอาการไข้สูง หอบเหนื่อย หายใจลำบาก ควรไปพบแพทย์ พร้อมทั้งแจ้งประวัติการเดินทาง
สำหรับประชาชนทั่วไป
-          หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไอ หรือจาม
-          ควรล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ โดยเฉพาะเมื่อสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย ก่อนรับประทานอาหาร และหลังขับถ่าย
-          ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่แออัด หรือที่ชุมชนสาธารณะที่มีคนอยู่เป็นจำนวนมาก เพื่อลดความเสี่ยงในการติดโรค
-          แนะนำให้ผู้ป่วยใส่หน้ากากอนามัย ปิดปากปิดจมูกเวลาไอ หรือจาม
-          ปฏิบัติตามหลักสุขอนามัยที่ดี ได้แก่ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น