วันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2555

สถานการณ์โรคคอตีบประเทศไทย



สถานการณ์โรคคอตีบประเทศไทย
ตั้งแต่ 1 มกราคม - 14 ตุลาคม 2555 พบผู้ป่วยโรคคอตีบ 79 ราย ใน 15 จังหวัด เป็นเด็กอายุ 10 - 14 ปี มากถึงร้อยละ 24 และมีผู้เสียชีวิต 4 ราย กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ตั้งวอร์รูมที่ส่วนกลาง เพื่อติดตามประเมินความคืบหน้าสถานการณ์และมาตรการควบคุมป้องกันโรค ประชุมอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ส่วนในการควบคุมการระบาดของโรคคอตีบ ขณะนี้ได้ดำเนินการอย่างเข้มข้นใน 15 จังหวัด แบ่งเป็น 4 ระดับ ดังนี้
1. จังหวัดที่ต้องดำเนินการขั้นสูงสุด ได้แก่ จ.เลย เนื่องจากที่พบผู้ป่วยมากถึง 66 ราย และมีผู้เสียชีวิต 2 ราย
2. จังหวัดอื่น ๆ ที่พบผู้ป่วยยืนยันว่าติดเชื้อ ได้แก่ จ.เพชรบูรณ์ หนองบัวลำภู อุดรธานี และสุราษฎร์ธานี
3. จังหวัดที่พบผู้สงสัยว่าจะติดเชื้อ ได้แก่ จ.พิษณุโลก สกลนคร
และ 4. จังหวัดที่ ติดกับพื้นที่ที่มีผู้ป่วยหรือผู้สงสัย ได้แก่ จ.ชัยภูมิ ขอนแก่น หนองคาย เชียงราย พิจิตร อุตรดิตถ์ บึงกาฬ และน่าน
ความรู้โรคคอตีบ
        สำหรับโรคคอตีบนั้น เกิดจากแบคทีเรีย ชื่อ โครินแบคทีเรียม ดิพทีเรีย สามารถติดต่อกันผ่านทางเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย เช่น การจาม หรือไอ หรือการใช้ภาชนะ ข้าวของเครื่องใช้ร่วมกับผู้ป่วย พบมากในแหล่งชุมชน หรือสถานที่แออัด เช่น สถานเลี้ยงเด็ก ส่วนใหญ่จะพบผู้ป่วยในเด็กที่อายุต่ำกว่า 10 ปี อย่างไรก็ตาม เด็กที่อายุมากกว่า 15 ปี จนถึงวัยผู้ใหญ่ก็สามารถพบผู้ป่วยได้ เพราะอาจไม่ได้ฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกัน หรืออาจไม่เคยได้รับการวัคซีนป้องกัน
อาการโรคคอตีบ
        ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคคอตีบ หลังจากเกิดการติดเชื้อ จะมีไข้สูง แต่ไม่เกิน 39 องศา ตัวร้อนรุ่ม ๆ หนาวสั่น รู้สึกเหมือนเป็นหวัด เจ็บคอ ไอเสียงแหบ กลืนอาหารลำบาก จากนั้น จะมีอาการหายใจติดขัด หอบ ชีพจรเต้นเร็ว หากตรวจบริเวณผนังด้านหลังของคอจะพบแผ่นเยื่อสีเหลืองปนเทา ซึ่งดูคล้ายเศษผ้าสกปรกติดอยู่บนทอนซิล คอหอย กล่องเสียง และลิ้นไก่ ถ้าใช้ช้อนเขี่ยแรง ๆ แผ่นเยื่อดังกล่าวจะหลุดออกมาได้ แต่จะมีเลือดออกมาด้วย อย่างไรก็ตาม ในรายที่รุนแรง โรคคอตีบอาจทำให้เกิดการสูญเสียถึงชีวิตได้เลย เพราะมันจะทำให้ทางเดินหายใจตีบตัน จนหายใจไม่ออก และนอกจากไปอุดตันทางเดินหายใจแล้ว เชื้อโรคจากคอและหลอดลมจะปล่อยพิษออกมาในกระแสเลือด เข้าสู่กล้ามเนื้อหัวใจ และประสาทส่วนปลาย อาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนอย่าง "โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ", "ประสาทอักเสบ" หรือโรคอัมพาตเนื่องจากพิษทางประสาทจนเสียชีวิต

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น