วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

รุ้ไว้ ไม่น่ากลัว โรค มือ เท้า ปาก

hand foot mouth disease
ข้อมูล สถานการณ์ของโรค มือ เท้า ปาก ในประเทศไทยขณะนี้พบว่ายังไม่น่าวิตกและโรคนี้เป็น 1 ใน 57 โรคเฝ้าระวังต่อเนื่องทุกปี ในครึ่งปีแรกนี้พบผู้ป่วยโรคมือเท้าปากประปรายกระจายหลายจังหวัดยังไม่พบการระบาดของโรคเป็นกลุ่ม โดยตั้งแต่ต้นปีพบผู้ป่วย 10,813 ราย ร้อยละ 72 เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบและยังไม่มีผู้เสียชีวิต
สาเหตุของโรค
เกิดจากการติดเชื้อกลุ่มไวรัสเอนเทอโร (enterovirus) ซึ่งมีอยู่หลายชนิด ได้แก่ ค็อกแซกกีเอ ค็อกแซกกีบี และไวรัสเอนเทอโรชนิด 71 โรคนี้ส่วนใหญ่ติดต่อจากการกินอาหาร น้ำดื่ม การดูดเลียนิ้วมือ หรือของเล่นที่ปนเปื้อนเชื้อที่ออกมากับอุจจาระน้ำเหลืองจากตุ่มน้ำที่ผิวหนัง หรือละอองน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย พบน้อยที่จะติดต่อโดยการสูดเอาละอองน้ำมูกน้ำลายที่ผู้ป่วยไอหรือจามรด เชื้อก่อโรคที่พบบ่อยที่สุดคือ ค็อกแซกกีเอชนิด 16  ซึ่งทำให้เกิดอาการที่ไม่รุนแรง และหายได้เองเป็นส่วนใหญ่ ที่พบน้อยแต่รุนแรงคือ ไวรัสเอนเทอโรชนิด 71 ซึ่งเป็นต้นเหตุการตายของเด็กเล็กในประเทศต่างๆ ดังกล่าวอาการแสดงของโรค
หลังติดเชื้อ 3-7 วัน เด็กจะมีอาการไข้ และอาจมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหารร่วมด้วย หลังจากนั้น 1-2 วัน จะมีน้ำมูก เจ็บปาก เจ็บคอ ไม่ยอมดูดนม ไม่อยากกินอาหาร เด็กเล็กอาจร้องงอแง เมื่อตรวจดูในปากพบจุดนูนแดงๆ หรือมีน้ำใสอยู่ข้างใต้ ขึ้นตามเยื่อบุปาก ลิ้นและเหงือก ซึ่งต่อมาจะแตกกลายเป็นแผลตื้นๆ และมีอาการเจ็บมาก ในเวลาไล่เลี่ยกันก็จะมีผื่นขึ้นที่มือและเท้า ในเด็กบางคนขึ้นในฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือแก้มก้น โดยตอนแรกมักขึ้นเป็นจุดแดงราบก่อน แล้วกลายเป็นตุ่มน้ำตามมา ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3-7 มิลลิเมตร มักไม่คันไม่เจ็บ บางรายเป็นส่วนน้อยที่มีอาการคัน อาการไข้มักเป็นอยู่ 3-4 วันก็ทุเลาไปเอง ส่วนแผลในปากมักจะหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ และตุ่มน้ำที่มือและเท้าจะหายได้เองภายใน 10 วัน ในรายที่เป็นรุนแรง (ซึ่งพบเป็นส่วนน้อย) อาจมีอาการปวดศีรษะมาก อาเจียนรุนแรง ซึม ไม่ค่อยรู้ตัว มีอาการชัก แขนขาอ่อนแรง หรือหายใจหอบเหนื่อย 
การดำเนินของโรค
ส่วนใหญ่มักจะหายได้เองภายใน 7-10 วัน (เต็มที่ไม่เกิน 2 สัปดาห์) โดยจะมีไข้อยู่เพียง 3-4 วันแรก ส่วนน้อยที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวตามมา ซึ่งหากรุนแรงมากอาจทำให้เสียชีวิตได้ 
ภาวะแทรกซ้อนที่ต้องระวัง
ในรายที่มีอาการคัน อาจเกาจนติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน กลายเป็นตุ่มหนอง พุพอง ในรายที่เจ็บแผลในปากจนกินอาหาร หรือดื่มน้ำไม่ได้อาจเกิดภาวะขาดน้ำ บางรายอาจมีเยื่อหุ้มสมองอักเสบแทรกซ้อนซึ่งมักเป็นไม่รุนแรง และหายได้เองภายใน 10 วัน
ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้น้อยแต่มีอันตรายร้ายแรง ได้แก่ สมองอักเสบ (มีอาการปวดศีรษะ อาเจียน ไม่ค่อยรู้ตัว ชัก) ภาวะปอดบวมน้ำหรือมีเลือดออกในปอด (มีอาการ หายใจหอบเหนื่อย) กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (มีอาการเจ็บหน้าอก หายใจหอบเหนื่อย) โรคเหล่านี้อาจรุนแรงถึงตายได้ มักเกิดในกลุ่มที่ติดเชื้อไวรัสเอนเทอโรชนิด 71 
การสังเกตุแยกโรค
ในระยะแรกที่มีไข้ เจ็บคอ น้ำมูก อาจคิดว่าเป็นเพียงไข้หวัด ถ้าเป็นไข้หวัดก็มักจะไม่มีอาการเป็นแผลในปาก และมีตุ่มน้ำตามมือและเท้าตามมา ในระยะที่พบแผลในปากอาจทำให้คิดว่าเป็น แผลแอฟทัส (aphthous ulcer) ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่มีไข้ และตุ่มน้ำตามมือและเท้า แผลในปากมักจะหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ นอกจากนี้ อาการขึ้นตุ่มน้ำใสตามผิวหนัง อาจเกิดจากโรคอื่น เช่น เริม จะมีตุ่มขึ้นเป็นหย่อมเล็กๆ เพียงหย่อมเดียว ไม่กระจายอยู่หลายแห่ง และมักไม่มีไข้ มักจะแตกเป็นแผลตกสะเก็ด และหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ อีสุกอีใส จะมีไข้และผื่นขึ้นพร้อมกันใน 1-2 วันแรก ผื่นมีลักษณะเป็นจุดแดง ตุ่มนูนและกลายเป็นตุ่มใส กระจายตามใบหน้า ลำตัว และแขนขา บางครั้งอาจขึ้นในช่องปากร่วมด้วย
เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ และไม่พบว่ามีอาการแทรกซ้อน ก็จะให้การดูแลรักษาตามอาการ  เช่น ให้ยาลดไข้ ยาชาทาแผลในปาก (ถ้าเจ็บมาก) ถ้าตุ่มกลายเป็นหนองหรือพุพองก็จะให้ยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลลินวี อะม็อกซีซิลลิน อีริโทรไมซิน เป็นต้น ถ้ามีภาวะขาดน้ำเนื่องจากกินและดื่มไม่ได้ ก็จะให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ ในรายที่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ก็จำเป็นต้องรับเด็กไว้รักษาในโรงพยาบาลหรือส่งต่อให้ผู้เชี่ยวชาญดูแลต่อไป 
การวินิจฉัยโรค
แพทย์จะวินิจฉัยโรคมือ เท้า ปาก จากลักษณะอาการแสดงของโรค น้อยรายที่อาจต้องทำการตรวจหาเชื้อไวรัสก่อโรคจากสิ่งคัดหลั่งในคอหอย อุจจาระ หรือน้ำเหลืองจากตุ่มน้ำบนผิวหนัง
โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส ไม่จำเป็นต้องให้ยารักษาจำเพาะ เพียงแต่ให้การดูแลตามอาการ และเฝ้าติดตามอาการเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิด ดังนี้
ให้ยาลดไข้ พาราเซตามอล เป็นครั้งคราวเวลา มีไข้สูง
ให้เด็กดื่มน้ำมากๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ โดยสังเกตดูว่ามีปัสสาวะออกมากและใส จึงนับว่าได้น้ำพอในช่วงที่มีอาการเจ็บแผลในปาก ให้เด็กกินอาหารเหลวหรือของน้ำๆ เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก แกงจืด นม โดยใช้ช้อนป้อนหรือใช้กระบอกฉีดยา ค่อยๆ หยอดเข้าปาก ไม่ควรให้เด็ก (โดยเฉพาะเด็กเล็กๆ) ดูดนมหรือน้ำจากขวดเนื่องจากอาจมีอาการเจ็บในปาก อาจใช้วิธีให้เด็กอมน้ำแข็งก้อนเล็กๆ ดื่มน้ำหรือนมเย็นๆ กินไอศกรีม  หรือบ้วนปากด้วยน้ำเกลืออุ่นๆ (ผสมเกลือป่นครึ่งช้อนชาในน้ำอุ่น 1 แก้ว) วันละหลายๆ ครั้ง 
ควรปรึกษาแพทย์ เมื่อมีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้ อันนี้ต้องจำให้ขึ้นใจเลยนะครับ
ตุ่มน้ำ กลายเป็นตุ่มหนองหรือพุพองจากการเกา ให้แพทย์พิจารณาใช้ยาปฏิชีวนะรักษา
มีอาการเจ็บแผลในปาก จนกินอาหารและดื่มน้ำไม่ได้ มีภาวะขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง ปัสสาวะออกน้อย
มีอาการปวดศีรษะมาก อาเจียนรุนแรง ไม่ค่อยรู้ตัว ชัก แขนขาอ่อนแรง หรือหายใจหอบเหนื่อย ควรส่งโรงพยาบาลโดยด่วน
อาการไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์
มีความวิตกกังวล หรือมีความไม่มั่นใจที่จะดูแลรักษาตนเอง

ทราบอาการของโรคนี้และวิธีปฏิบัติตัวอย่างคร่าวๆแล้ว โรคมือ เท้า ปาก นี้ คงไม่น่ากลัวอย่างที่คิดนะครับมาดูกันต่อครับว่า มือ เท้า ปาก ป้องกันได้




0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น